การจัดแสดง Material Futures 2025

การจัดแสดง Material Futures 2025

  • 8 ก.พ. - 27 เม.ย. 2568

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เราต้องเผชิญในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะทางอากาศ สิ่งแวดล้อม รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สังคม และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกินไป ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ทำให้เราต้องเรียนรู้ที่จะปรับโมเดลธุรกิจให้อยู่รอด หนึ่งในนั้นคือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับวัสดุ ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาและออกแบบวัสดุใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนต่อไปในอนาคต 

พบกับ 4 นวัตกรรมวัสดุและเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่พัฒนาและออกแบบเพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้มีการใช้งานอย่างยั่งยืน 

1. Recycled Plastic โดย Qualy

พลาสติกที่หมดอายุการใช้งาน ทั้งจากผู้บริโภคและกระบวนการอุตสาหกรรม ถูกนำมาคัดแยก ทำความสะอาด และแปรรูปเป็นวัสดุรีไซเคิล ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลใช้ซ้ำได้เรื่อย ๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก และสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืนมากขึ้น

2. CORN+ Corn Husk Artificial Leather Paper โดย PAPA PAPER

วัสดุจากเปลือกข้าวโพดที่ผ่านกระบวนการนวัตกรรมล้ำสมัย เปลี่ยนของเหลือทิ้งจากการเกษตรให้เป็นวัสดุทดแทนหนังที่ยั่งยืน มีความทนทาน ยืดหยุ่น และสวยงามตามธรรมชาติ เหมาะสำหรับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่เครื่องหนังแฟชั่นไปจนถึงของตกแต่งบ้าน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยคุณภาพระดับพรีเมียมที่ผสานดีไซน์และความยั่งยืนไว้ด้วยกันอย่างลงตัว

3. Creative Textile Fibers From Waste Materials โดย ศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ (FTCDC) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

นวัตกรรมเส้นใยจากเศษเหลือทิ้งทางการเกษตร ที่มีการนําไปพัฒนาและต่อยอด ได้แก่ เส้นใยฝ้าย เส้นใยใบตะไคร้ เส้นใยที่ได้จากแกนกลางเหลือทิ้งจากการทอเสื่อกก เส้นใยจากเศษผ้า เส้นใยจากขวดน้ำพลาสติก ฯลฯ โดยครอบคลุม 3 มิติของโมเดลเศรษฐกิจ BCG นวัตกรรมเหล่านี้ใช้วิธีการออกแบบบนพื้นฐานของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยให้ความสำคัญกับการใช้วัสดุหมุนเวียน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกิดความคุ้มค่าแล้ว ยังสามารถสร้างมูลค่าเชิงอัตลักษณ์ให้แก่พื้นที่ได้ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

4. Mycelium Coffin โดย Jirawan Kumsao

โลงศพเห็ดสัญชาติไทยสำหรับสัตว์เลี้ยง ผู้ย่อยสลายที่จะทำหน้าที่หมุนเวียนธาตุอาหารสู่ดิน เป็นผู้ชุบชีวิตจากความตาย โดยทำหน้าที่หมุนเวียนธาตุให้เกิดใหม่ ส่งต่อธาตุให้พืชพรรณได้ใช้งอกงามเติบโตในวัฏจักรโลก วัสดุผลิตทำมาจากเชื้อราในป่าต้นน้ำ อ. เชียงดาว จ. เชียงใหม่ และใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาเป็นวัสดุเพาะขยายขึ้นรูป ลดการเผาข้าวโพด สร้างมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“การพัฒนาและออกแบบวัสดุ” นับเป็นความท้าทาย ที่อาจนำไปสู่ความหวังในการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับวัสดุ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เช่น การนำพลาสติก เยื่อกระดาษ วัสดุทางการเกษตร กลับมาใช้ใหม่ให้มีคุณค่าและส่งเสริมการหมุนเวียนภายในระบบ แนวคิดนี้ยังสนับสนุนการเปิดใจทดลองวัสดุร่วมกับศาสตร์อื่น ๆ และค้นหาการออกแบบการใช้งานใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่เพียงเพื่อความสวยงาม แต่ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและสังคม

ผู้ที่สนใจสามารถชมการจัดแสดงได้ตั้งแต่วันนี้ - 27 เมษายน 2568 ณ TCDC กรุงเทพฯ ห้อง Material & Design Innovation Center (MDIC) ชั้น 2 อาคารส่วนหลังเวลา 10.30 - 19.00 น. (ปิดวันจันทร์)

หมายเหตุ: จอดรถได้ที่อาคารจอดรถ NT บางรัก ในอัตรา 20 บาท/ชั่วโมง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 

อีเมล: infomaterials@cea.or.th

โทร. 02-105-7400 ต่อ 241, 254